คำขวัญโรงเรียนวัดหลักสองราษฎร์บำรุง

คลองดำเนินสะดวก

คลองดำเนินสะดวก




ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย...เหรียญทอง เรืองรอง


ความเป็นมาของคลองดำเนินสะดวก

บ้านแพ้วและดำเนินสะดวกสมัยก่อนพื้นที่มีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม มีป่าดงไผ่และต้นเสือหมอบ สภาพพื้นที่สมัยนั้น ไม่มีคลองมากมาย เช่นปัจจุบัน คลองธรรมชาติที่ผ่านในท้องถิ่น เช่น คลองบางยาง คลองตัน คลองหมูทอด คลองบางป่า คลองแพงพวย คลองสี่หมื่น คลองบางพัง คลองบางนกแขวก ซึ่งแต่เดิมเป็นทางเกวียนและระแทะ ( เกวียนสำหรับนั่งขนาดเล็ก ชนิดหนึ่งเพื่อไปได้เร็ว , เกวียนเล็กที่ใช้เทียมด้วยโค ) มีน้ำไหลผ่านเฉพาะในฤดูน้ำหลาก เมื่อถึงฤดูแล้ง จะไม่มีน้ำเลย การคมนาคมส่วนใหญ่ โดยการเดินเท้า หรือใช้พาหนะเช่น ช้าง ม้า ลา ทางน้ำใช้เรือ เช่น เรือแจว เรือพาย เรือใบ เรือสำเภา ในสมัยนั้น การติดต่อกันทางเรือ มีความสำคัญมาก ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าที่ทำการของรัฐบาล เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ ตั้งอยู่ริมทะเลหรือริมคลองใหม ่เป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเมื่อมีรถไฟขึ้น ทำให้สะดวกรวดเร็ว จึงย้ายที่ทำการไปตั้งอยู่ริมทางรถไฟ สมัยนั้นการคมนาคม ระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดราชบุรี ทางเรือออกจากกรุงเทพฯ ล่องตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าคลองดาวคะนอง ไปออกจังหวัดสมุทรสาคร แล้วเข้าคลองสุนัขหอน ไปออกแม่น้ำแม่กลอง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ขึ้นไปจนถึงจังหวัดราชบุรี

ในสมัยรัชการที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า “ การไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครก็มีคลองภาษีเจริญ ไปมาสะดวกดีอยู่ จึงควรมีคลองระหว่างกรุงเทพฯสมุทรสงคราม และราชบุรี ให้สะดวกขึ้น โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง” ในปี พ.ศ 2409 ( ปีขาล อัฐศก ร.ศ 85 จ.ศ 1228 ) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุญนาค ) เมื่อครั้งขึ้นรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประสาทสิทธิ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้อำนวยการขุดคลองนี้ โดยใช้กำลังทหาร ข้าราชการและประชาชนร่วมกันขุด การขุดดินนี้ใช้กำลังแรงงานของคนล้วน ๆ จากคำบอกเล่าของพระคุณท่าน หลวงพ่อพระครูวิชัย ศีลคุณ ( กลม คุณสีโล ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม ( อ้างโดย พระครูสิริวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม ) ว่า “ ที่ทำการขุดคลอง กันจริงๆ ส่วนมากจะเป็นคนจีน ที่มาอยู่ในเมืองไทยใหม่ ๆ เป็นผู้รับจ้างขุด หากเดือนหงายกลางคืน จะขุดกันทั้งคืน คนจีนสมัยนั้น ส่วนมากจะไว้ผมเปีย เมื่อทำงานตอนกลางคืนจะนุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว ขุดดินใส่บุ้งกี๋แล้วก็หาบดิน หรือแบกดินนั้น เอาขึ้นไปทิ้งนอกเขต ที่ต้องการ กลางคืนอากาศดี ไม่ร้อน ทำงานได้ดีตลอดทั้งคืน แล้วมาพักผ่อนตอนกลางวัน”

การขุดคลองเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ 2409 เริ่มจากจุดริมแม่น้ำท่าจีนที่คลองบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นตรงผ่านตำบลโคกไผ่ ( ปัจจุบันคือตำบลดอนไผ่ ) และขุดผ่านเข้ามาในเขต อำเภอปากคลองแพงพวย ( อำเภอดำเนินสะดวกเดิม) จนถึงแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม การขุดคลองเพื่อเป็นการทุ่นแรง จึงขุดดินขึ้นระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ไม่ต้องขุดดินทิ้งไว้ระยะหนึ่ง พอน้ำหลากมาก็เซาะดิน ที่ไม่ได้ขุดพังไป เช่น ยาว 2 วา เว้นไว้ 1 วา คลองที่ขุดเป็นคลอง กว้าง 6 วา ( 12 เมตร ) ลึก 6 ศอก ( 3 เมตร ) ยาว 895 เส้น หรือ 35 กิโลเมตร 800 เมตร (ตามหลักฐานของกรมชลประทาน เขียนบอกระยะทางไว้ที่ปากคลอง ออกแม่น้ำแม่กลอง ) ทุก ๆ 100 เส้น ( 4 กิโลเมตร ) ได้ปักเสาหินไว้ 1 ต้น ทางฝั่งทิศใต้ของคลอง เริ่มจากตำบลสวนส้ม ( เดิมชื่อตำบลดำเนินสะดวก) เป็นหลักที่ 0 ถึงหลักที่ 8 ที่แม่น้ำแม่กลอง แต่ละหลัก จะสลักและเขียนสีแดงเป็น 3 ภาษา คือ เลขไทย โรมัน จีน บอกเลขไว้ทุกหลัก อยู่ในเขตอำเภอ บ้านแพ้ว จำนวน 5 หลัก

คือ หลัก 0 ถึงหลัก 2 อยูในเขตตำบลสวนส้ม หลัก 3 อยู่ในเขตตำบลหลักสาม หลัก4 อยู่ในขตตำบลยกกระบัตร และหลัก5 อยู่ตรงเขตแดนระหว่างตำบลโรงเข้ กับตำบลปราสาทสิทธิ์ หลักที่ 5 ถึงหลักที่ 7 อยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และหลักสุดท้าย หลักที่ 8 อยู่ในเขตอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

เมื่อทำการขุดคลองนี้สำเร็จแล้ว จึงนำแผนขึ้นทูลเกล้า ถวายถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงทรงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “ คลองดำเนินสะดวก ” และได้ทำพิธีเปิดใช้คลองนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ 2411 ตรงกับวันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ ( จากหลักฐานพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชการที่ 4 เล่ม 2 หน้า 126 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) สิ้นค่าใช้จ่ายในการขุดคลอง รวมค่าจ้างขุด ค่าตอไม้ เป็นเงิน 1,400 ชั่ง โดยได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชการที่ 4 จำนวน 400 ชั่ง จาก ฯพณฯ หัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม จำนวน 1,000 ชั่ง ใช้เวลาในการขุด ประมาณ 2 ปีเศษ จึงแล้วเสร็จ เนื่องจาก “ คลองดำเนินสะดวก ” เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับ จังหวัดราชบุรี โดยใช้เรือยนต์เข้ามาแทนเรือพายและเรือแจว ทำให้ตลิ่งพังมาก คลองจึงขยายกว้างออกไป ตามความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ปัจจุบันคลองกว้างประมาณ 30 – 40 เมตร เรือบรรทุกสินค้าลำใหญ่ๆ ไปมาสะดวกและทางราชการเคยส่งเรือขุดไปขุดลอกดินในคลองที่ตื้นเขินหลายครั้ง เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้น ( จากจดหมายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ) พร้อมด้วยพระประยูรญาติไปตามลำคลองดำเนินสะดวก และเสด็จประทับแรม ณ วัดโชติทายการาม เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2447 ( ร.ศ 123 ) และในครั้งนี้ได้เสด็จไปยังบ้านของ นายฮวดมหาดเล็ก ( เจ๊กฮวด )

เสด็จประพาสต้น

เรื่องการเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้มีความว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรดฯ ในการเสด็จประพาสต้นตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา เสด็จประพาสแทบทุกปี บางคราวก็เสด็จไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรดฯให้จัดการรับเสด็จเป็นทางการ ที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” โปรดฯให้จัดการที่เสด็จไปใช้ง่ายยิ่งกว่าเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ คือ ไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางทีทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไป มิให้ใครรู้จักพระองค์ การเสด็จประพาสต้นเริ่มมีครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทร์ศก 123 ( พ.ศ 2447 ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 เสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ 2477 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าหน้าวัดโชติทายการาม หลวงพ่อช่วง ( พระอธิการช่วง เจ้าอาวาส ) ได้ทราบว่าในหลวงเสด็จ จึงนำพระลูกวัด 4 - 5 รูป ลงมาสวดชัยมงคลต้อนรับ รู้สึกเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้ตรัสถวายเงินบูรณะวัด 10 ชั่ง และถวายพระสงฆ์ รูปละ 1 ตำลึง และโปรดเกล้าให้มหาดเล็กจัดที่ประทับแรมบนศาลาการเปรียญ ให้พนักงานเครื่องต้น ประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวย ณ ที่ศาลาท่าน้ำ ในตอนบ่ายวันนั้น เวลาประมาณ 3 โมงเศษ พระองค์พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ 2 ท่าน ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จทรงเรือมาดพาย(แบบเรือมาดกระสวย) พายไปตามลำพัง โดยไม่มีผู้ติดตาม ทั้งนี้เพราะพระองค์อยากจะทราบความเป็นอยู่ สารทุกข์สุขของราษฎรของพระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า น้ำหลากมาท่วมมาก มองไม่เห็นพื้นดิน เป็นน้ำขาวเวิ้งว้างไปหมดทุกสารทิศ ผลไม้ในนาไร่และสวนถูกน้ำท่วมจนหมดสิ้น พระองค์ได้ทรงเสด็จ เข้าไปทางคลองลัดราชบุรี ขณะนั้นบ้านเรือนราษฎรไม่มี วัดราษฎร์เจริญธรรมยังไม่ได้สร้าง มีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่หนึ่งหลัง แล้วทรงเลี้ยวเรือพระที่นั่งไปทางซ้ายมือผ่านบ้านราษฎร ห่างๆ จะมีสักหลังหนึ่งเห็นเงียบไม่มีคนอยู่ จึงมิได้เสด็จแวะเยี่ยม เมื่อเสด็จมาถึงบ้านนางผึ้ง แซ่เล้า ทอดพระเนตรเห็นเจ้าของบ้านนำเอา หอม กระเทียม ไปตากบนหลังคาเรือน พอเห็นเรือคนแปลกหน้า เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนาง ก็ร้องเชื้อเชิญให้แวะที่บ้าน พระองค์จึงเสด็จขึ้นบ้านของนางผึ้ง ขณะนั้นนางผึ้งหุงข้าวสุกพอดี จึงเรียกลูกชาย คือ “เจ็กฮวด” ขณะนั้นอายุประมาณ 20 ปีเศษ ให้ยกกระบะใส่กับข้าว ยกหม้อข้าว แล้วร้องเชิญให้พระองค์เสวย ในขณะที่รัชกาลที่ 5 กำลังเสวย เจ็กฮวดซึ่งมานั่งยอง ๆ ดูพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็หันไปดู พระบรมฉายาลักษณ์ ที่หิ้งบูชา ดูแล้วดูเล่า แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า “ คล้ายนัก คล้ายนัก ขอรับ” พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสถามว่า “ คล้ายนัก คล้ายนัก คล้ายอะไร” เจ็กฮวดบอกว่า คล้ายรูปที่บูชาไว้ พูดแล้วเจ็กฮวดก็เอาผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน นางผึ้งเห็นลูกชายกราบ ก็กราบตาม พระองค์ตรัสว่า “ แน่ใจหรือ” เจ็กฮวดก็ตอบว่า “ แน่ใจขอรับ” พระองค์จึงตรัสชมเจ็กฮวดว่า “ ฉลาดและตาแหลมดี จะให้เป็นมหาดเล็กเอาไหม” นายฮวดพยักหน้าและกราบทูลว่า “ เอาขอรับ” แล้วจึงตรัสสั่งให้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชิญพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ็กฮวด แซ่เล้า เป็นมหาดเล็กของพระองค์ แล้วรับสั่งให้เข้าไปเยี่ยมพระองค์ท่านที่บางกอกบ้าง ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวก จึงเรียกเจ็กฮวด แซ่เล้า ว่า เจ็กฮวดมหาดเล็ก

หลักสองและคลองดำเนิน

หลัก 2 คือหลักที่ปักอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก ทางทิศใต้ อยู่ตรงข้ามกับวัดหลักสองราษฎร์บำรุง ย่านที่เรียกว่าหลักสองนี้ เป็นย่านชุมชน ที่อยู่ในตำบลหลักสอง ตำบลสวนส้มบางส่วน (หมู่ที่ 4) และตำบลหลักสามบางส่วน (หมู่ที่ 10) ลักษณะของหลัก 2 นี้ เป็นหลักที่ทำจากหินแกรนิต เป็นแท่งสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ 175 เซ็นติเมตร ด้านบน สลักเป็นรูปดอกบัวบาน ด้านข้างหนึ่ง สลักตัวเลข ๒ (เลขไทย) เลขโรมัน และเลขจีน ปัจจุบันปักอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก บริเวณบ้านของนายสัมฤทธิ์ เล็กวิไล อดีตข้าราชการครู โรงเรียนวัดหลักสองฯ ( ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

คลองดำเนินสะดวกย่านหลักสองนี้ มีความกว้างราว 20 เมตร สภาพน้ำยังใช้อุปโภคได้ดี แต่ถ้าจะนำไปบริโภค คงต้องผ่านการต้ม หรือกรอง จะมีปัญหาน้ำมีสภาพของมลภาวะสูง ในฤดูร้อน( มีนาคม - มิถุนายน) ซึ่งมีค่าออกซิเจนต่ำ และมีสารปนเปื้อนสูง โดยเฉพาะสารเคมีทางการเกษตร ส่วนฤดูที่น้ำหลาก สภาพน้ำดี ใสสะอาดพอประมาณ เพราะได้รับน้ำจาก แม่น้ำแม่กลองมากกว่า ในฤดูร้อน สองฝั่งคลองเป็นบ้านเรือน ที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก ยกเว้นบริเวณ ใกล้ๆ วัดหลักสอง จะค่อนข้างหนาแน่น มีโรงสีข้าว 2 โรง ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีร้านขายของเบ็ดเตล็ดหลายร้าน มีวัดหลักสองราษฎร์บำรุง เป็นศูนย์กลาง มีโรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง คือโรงเรียนวัดหลักสองราษฎร์บำรุง และโรงเรียนมัธยมศึกษาอีก 1 แห่ง คือ โรงเรียนหลักสองส่งเสริมวิทยา ย่านหลักสองนี้มีคลองซอย ซึ่งแยกออกจากคลองดำเนินสะดวก หลายคลองด้วยกัน คือ

1. คลองตาขำ ( ดี 7 ) อยู่ฝั่งใต้ เป็นคลองชลประทานขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ปากคลองอยู่ก่อนถึงหลักที่ 2 ประมาณ 2 กิโลเมตร


ปากคลองตาขำ

2. คลองเจ็ดริ้ว เป็นคลองขนาดเล็ก อยู่ฝั่งเหนือเชื่อมคลองดำเนินสะดวก กับคลองจินดา ปากคลองอยู่ข้างบ้าน นายทองหล่อ เต็งใช่สุน สองฝั่งลำคลองเต็มไปด้วยสวนผลไม้นานาพันธุ์ เช่น มะพร้าว แก้วมังกร มะนาว องุ่น ฝรั่ง ลำไย ฯลฯ ลำคลองจะผ่านวัดเจ็ดริ้ว อันเป็นย่านที่อยู่ของชาวไทย เชื้อสายรามัญ
ปากคลองเจ็ดริ้ว


3. คลองหน้าวัดหลักสอง อยู่ฝั่งใต ้เป็นคลองขนาดเล็ก ปากคลองอยู่ข้างโรงสีธัญญผล อยู่ก่อนถึงหลักที่ 2 ประมาณ 100 เมตร ไปบรรจบกับคลองรางแดง ทะลุออก ที่คลองตาขำ

4. คลองเขื่อนขันธ์ (คลองพระมหาโยธา) เป็นคลองขนาดเล็ก อยู่ฝั่งเหนือเชื่อมคลองดำเนินสะดวก กับคลองจินดา อีกคลองหนึ่ง ปากคลองอยู่ข้างบ้าน ผู้ใหญ่พิชัย เร้าธนสาร คลองนี้สองฝั่งลำคลอง เต็มไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิด เช่นมะม่วง มะพร้าว ส้ม มะนาว ฯลฯ จากปากคลองเข้าไปราว 5 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดกระโจมทอง และที่ทำการ อบต.หลักสอง ปลายคลองอีกด้านคือวัดจินดาราม

5. คลองจางวาง เป็นคลองขนาดเล็ก อยู่ฝั่งใต้ ไหลผ่านวัดชัยมงคล(วัดหัวตะเข้) ไปทะลุออกที่คลองตาขำ และเชื่อมต่อกับคลองหัวตะเข้ ปากคลองอยู่ข้างบ้านนายไล้ อยู่เลยหลักที่สองไปประมาณ 1 กิโลเมตร

จากคำบอกเล่าของคุณลุงเสนาะ สุขชัยศรี อดีตสารวัตรกำนัน ตำบลหลักสอง ปัจจุบันอายุ 70 ปี ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งขุดคลองดำเนินสะดวก เสร็จใหม่ๆ ก็สิ้นรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงครองราชสืบต่อมา ครั้งหนึ่งได้เสด็จประทับเรือ พระที่นั่งมาตรวจราชการ และทรงสำรวจคลองดำเนินสะดวก และในครั้งนั้น เรือพระที่นั่งได้เกยตื้นที่ ปากคลองบางยาง พระองค์ทรงให้ชาวบ้าน นำความไปบอกกำนัน ซึ่งขณะนั้นคือนายลี้ แซ่คู เป็นกำนัน ได้เกณฑ์ประชาชน ไปช่วยเข็นเรือพระที่นั่ง จากนั้นกำนันจึงกราบบังคมทูล เชิญพระองค์ให้เสด็จไปประทับที่บ้านของตน และได้จัดเตรียมพระกระยาหารถวาย พระองค์ประทับที่บ้านกำนันลี้ แซ่คู อยู่ราว 4- 5 วัน โดยไม่ถือพระองค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินต่อ ได้พระราชทานครุฑแดง และไม้ตะพดให้กับกำนันลี้ และให้เป็นกำนันไปตลอดชีวิต โดยครุฑแดงที่พระราชทาน เป็นครุฑตัวที่ 2 ในจำนวนทั้งหมด 5 ตัว ตามโบราณเชื่อว่าครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และตามความเชื่อของไทย ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นดั่งสมมุติเทพ ดังนั้นครุฑจึงเปรียบเสมือน พาหนะของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งการพระราชทานครุฑนั้น ถือเป็นการพระราชทานสิ่งที่สำคัญ

ลุงเสนาะ สุขชัยศรี หัวไม้ตะพดพระราชทาน ครุฑแดงและลุงเสนาะ สุขชัยศรี

ปัจจุบันบ้านกำนันลี้ แซ่คู ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประทับ จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างบางส่วน ก็เพราะชำรุด แต่ครุฑแดง ไม้ตะพด ลูกหลานของกำนันลี้ ยังคงดูแลรักษาไว้อย่างดี


พันธุ์ปลาในคลองดำเนิน

คลองดำเนินสะดวก คลองสาขา ตลอดจนแหล่งน้ำอื่นๆ แถบลุ่มน้ำนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำของชุมชนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ นานาชนิด พันธุ์ปลาต่างๆ เท่าที่เคยพบเห็นเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ( พ.ศ.2548) มีดังนี้